ขลุ่ยไทย
ขลุ่ยไทยนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่มีมาช้านาน ควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของสังคมไทยโดยใช้ร่วมบรรเลง
กับวงปีพาทย์ ฯลฯ ในการบรรเลงเพลงไทยเดิมมากมาย เสียงของขลุ่ยนั้นมีเสน่ห์ในตัวเองเมื่อได้ยินได้ฟัง
แล้วสามารถให้ความรู้สึกนุ่มนวล เยือกเย็น สงบ และซาบซึ้งในมนต์เสน่ห์ของมัน
ขลุ่ยไทยนั้นแบ่งเป็นหลายชนิดตามลักษณะของเสียง ได้แก่ ขลุ่ยเพียงออ, ขลุ่ยเคียงออ, ขลุ่ยรองออ,
ขลุ่ยหลิบ เป็นต้น
ปัจจุบันครูอาจารย์และท่านผู้รู้ได้มีการปรับปรุงขลุ่ยไทยให้สามารถบรรเลงร่วมกันกับวงดนตรีสากลได้
ทั้งนี้เนื่องจากคีย์เสียงของขลุ่ยไทยนั้นจะมีโทนเสียงที่แตกต่างกับเครื่องดนตรีสากล ดังนั้นถ้าใช้ขลุ่ยไทยไป
ร่วมบรรเลงกับเครื่องดนตรีสากลจะมีผลทำให้เสียงเพี้ยน ทั้งนี้เพราะเครื่องดนตรีสากลนั้นจะมี 12 ครึ่งเสียงใน
ขณะที่ขลุ่ยไทยจะมีคีย์เสียงเต็มเท่ากันหมด ทำให้ไม่สามารถเพิ่มหรือลดเสียงได้ ดังนั้นจึงเกิดอาการเสียงเพี้ยน
เมื่อได้บรรเลงร่วมกัน
การปรับปรุงขลุ่ยไทยให้สามารถบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากลได้นั้นจำเป็นต้องปรับแต่งขลุ่ยไทยให้
สามารถบรรเลงเสียงได้ครบ 12 ครึ่งเสียงได้ โดยแบ่งออกเป็นคีย์ต่าง ๆ กัน ที่นิยมและใช้กันมากที่สุดก็ได้แก่
ขลุ่ยไทย คีย์ Bb (บีแฟลต) ซึ่งจะสามารถใช้บรรเลงเพลงไทยลูกทุ่งร่วมสมัยได้เกือบทุกเพลง รองลงมาได้แก่
ขลุ่ยไทย คีย์ C (ซี) ซึ่งมักจะใช้บรรเลงเพลงไทยสากล หรือเพลงลูกกรุงได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
การเลือกใช้ขลุ่ยคีย์ต่าง ๆ นั้นก็เพื่อให้เหมาะสมกับคีย์เพลงต่าง ๆ โดยไม่ต้องลำบากมากในการวางนิ้ว
ทั้งนี้เพราะเพลงบางเพลงมีคีย์ที่ติด # (ชาร์ป) หรือ b (แฟลต) มาก ๆ แล้ว ถึงแม้จะสามารถวางนิ้วได้ก็ไม่คล่อง
ตัวในการบรรเลง เพราะจะทำให้เพลงไม่พลิ้วและใส่ลูกเล่นได้ยากลำบาก ดังนั้นวิธีการที่เหมาะสมคือเลือกใช้
ขลุ่ยให้เหมาะกับคีย์เพลงที่สุดเท่าที่จะทำได้