รำแก้บน
ความสำคัญ
การรำแก้บนเป็นวิถีชีวิตแบบไทยที่สะท้อนความเชื่อ เป็นกิจกรรมที่ช่วยปลดเปลื้องความผูกพันที่ติดค้างทางใจ เป็นสื่อกลาง
ในเรื่องการช่วยเหลือและการตอบแทน การรำแก้บนเป็นนาฏศิลป์ซึ่งปฏิบัติคู่วิถีชีวิตแบบไทย ที่สะท้อนความเชื่อและเอกลักษณ์
เฉพาะตัวที่บ่งบอกถึงความสวยงาม ความล้ำค่า ของวัฒนธรรมไทยด้วย
การรำแก้บนเป็นสิ่งคู่กับคนไทยกันมาช้านาน พบเห็นได้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ๆคนเคารพนับถือ ผู้คนที่เลื่อมใส
ศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาแต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ มักจะมากราบไหว้ขอพรและบนบานขอในสิ่งที่ตนปรารถนา
ครั้นเมื่อสมปรารถนาแล้ว ก็จะมาแก้บนด้วยการปิดทอง ถวายสิ่งของ และ รำแก้บน
การรำแก้บน มาจากรำละครแก้บนในสมัยกรุงเก่า โดยดัดแปลงจากละครรำชาตรี เพียงแต่ไม่มีการแสดงเป็นเรื่องเป็นราว
เท่านั้นเอง และไม่ว่าจะเป็นละครชาตรี ละครโนห์รา ละครใน ละครนอก หรือว่าจะเป็นการรำแก้บนเองก็ตาม นาฏศิลป์เหล่านี้
ต่างบอกเล่าเกี่ยวกับความเชื่อที่มีมาแต่โบราณของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสิ่งศักด์สิทธิ์ที่เราเคารพนับถือ
การ “ยกเครื่อง” จัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของละครแก้บน โดยต้องทำให้เสร็จในช่วงเที่ยงวัน ละครแก้บนในอยุธยามี
หลายคณะในระบบครอบครัวงานแสดงจะมีมากในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นการแก้บนในเรื่องที่เกี่ยวกับ
การเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนเรื่องอื่น ๆ คือ การให้ได้มาในสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการรำแก้บนจึงสมควรที่จะถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ควรที่ทุกคนจะได้รู้จักกันอย่างแพร่หลายและร่วมกัน
อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้คงอยู่สืบต่อไป.